คนไร้ความสามารถ ตามกฎหมาย

คนไร้ความสามารถ ตามกฎหมาย
คนไร้ความสามารถ ตามกฎหมาย
คนไร้ความสามารถ ตามกฎหมาย ระบุไว้ถึงความสามารถของบุคคลที่ทำให้บุคคลคนนั้นไม่สามารถทำนิติกรรมใด ๆ ได้แบบสมบูรณ์ และทำให้ต้องมีผุ้ที่คอยดูแล ทางกฎหมายเรียกว่าผู้อนุบาล ผู้ซึ่งดูแลคนไร้ความสามารถเพื่อรักษาสิทธิของเขาและครอบครัว

คนไร้ความสามารถ ตามกฎหมาย ระบุไว้ถึงความสามารถของบุคคลที่ทำให้บุคคลคนนั้นไม่สามารถทำนิติกรรมใด ๆ ได้แบบสมบูรณ์ และทำให้ต้องมีผุ้ที่คอยดูแล ทางกฎหมายเรียกว่าผู้อนุบาล ผู้ซึ่งดูแลคนไร้ความสามารถเพื่อรักษาสิทธิของเขาและครอบครัว

การเกิดขึ้นของ คนไร้ความสามารถ

การเกิดขึ้นของบุคคลไร้ความสามารถนั้น มีกฎหมายบัญญัติไว้ให้เขาเป็นบุคคลไร้ความสามารถ ตามมาตรา 28 ของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 28

วรรคหนึ่ง
“บุคคลวิกลจริตผู้ใด ถ้าคู่สมรสก็ดี ผู้บุพการีกล่าวคือ บิดา มารดา ปู่ย่า ตายาย ทวดก็ดี ผู้สืบสันดานกล่าวคือ ลูก หลาน เหลน ลื่อก็ดี ผู้ปกครองหรือผู้พิทักษ์ก็ดี ผู้ซึ่งปกครองดูแลบุคคลนั้นอยู่ก็ดี หรือพนักงานอัยการก็ดี ร้องขอต่อศาลให้สั่งให้บุคคลวิกลจริตผู้นั้นเป็นคนไร้ความสามารถ ศาลจะสั่งให้บุคคลวิกลจริตผู้นั้นเป็นคนไร้ความสามารถก็ได้

วรรคสอง “บุคคลซึ่งศาลได้สั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถตามวรรคหนึ่งต้องจัดให้อยู่ในความอนุบาล การแต่งตั้งผู้อนุบาล อำนาจหน้าที่ของผู้อนุบาล และการสิ้นสุดของความเป็นผู้อนุบาลให้เป็นไปตามบทบัญญัติบรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายนี้

วรรคสาม “คำสั่งของศาลตามมาตรานี้ ให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา”

กล่าวคือ บุคคลใดที่ศาลจะสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถนั้นต้องเป็นบุคคลที่วิกลจริต ถึงขนาดที่จริตวิกล และคนที่สามารถร้องขอต่อศาลให้ศาลสั่งได้นั้นเป็นบุคคลที่อยู่ในมาตรา 28 วรรคแรก นั้น

ใครเป็นผู้อนุบาลได้บ้าง?

มาตรา 1569

บทบัญญัติตามบรรพ 5 ในมาตรานี้ บัญญัติไว้ถึงคนที่สามารถเป็นผู้อนุบาลของบุคคลที่ เป็นผู้เยาว์ 1569 บัญญัติไว้ว่า

“ผู้ใช้อำนาจปกครองเป็นผู้แทนโดยชอบธรรมของบุตรในกรณีที่บุตรถูกศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถ ผู้ใช้อำนาจปกครองย่อมเป็นผู้อนุบาลหรือผู้พิทักษ์แล้วแต่กรณี”

กล่าวคือ การที่ผู้เยาว์นั้นกลายเป็นคนวิกลจริตถึงขนาด หากบุคคลตามมาตรา 28 ได้ร้องขอศาลไปให้ตั้งผู้เยาว์เป็นบุคคลไร้ความสามารถ หรือ เสมือนไร้ความสามารถนั้น ผู้ใช้อำนาจปกครอง ก็คือบิดามารดา หรือบิดาหรือมารดาย่อมเป็นผู้อนุบาลหรือผู้พิทักษ์ ตามบทบัญญัติแห่งมาตรา 1569

แต่ก็ยังมีการขยายความไว้ในกรณีอื่น ๆ ที่ศาลเห็นว่าบุคคลอื่นเหมาะสมในการเป็นผู้อนุบาลมากกว่า ให้เราหยิบบทบัญญัติมาตรา 1569/1 วรรค 1 มาประกอบ

1569/1

วรรคแรกบัญญัติไว้ว่า “ในกรณีที่ผู้เยาว์ถูกศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ และศาลมีคำสั่งตั้งบุคคลอื่นซึ่งมิใช่ผู้ใช้อำนาจปกครองหรือผู้ปกครองเป็นผู้อนุบาล ให้คำสั่งนั้นมีผลเป็นการถอนผู้ใช้อำนาจปกครองหรือผู้ปกครองที่เป็นอยู่ในขณะนั้น”

กล่าวคือ ในกรณีที่ศาลตั้งบุคคลอื่น ก็ให้ถอนอำนาจเดิมของผู้ใช้อำนาจปกครอง หรือผู้ปกครองเสีย เพราะอำนาจมันจะทับกัน ส่วนในกรณีที่ไม่ใช่ผู้เยาว์แล้ว ก็ให้หยิบเอา วรรคสองแห่งมาตรานี้มาบังคับใช้

วรรคสอง “ในกรณีที่บุคคลซึ่งบรรลุนิติภาวะและไม่มีคู่สมรสถูกศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถ ให้บิดามารดา หรือ บิดาหรือมารดาเป็นผู้อนุบาลหรือผู้พิทักษ์แล้วแต่กรณี เว้นแต่ศาลจะสั่งเป็นอย่างอื่น”

เราจะเห็นได้ว่าในกรณีที่ยังไม่ได้จดทะเบียนสมรสกันทางกฎหมาย คือการที่ไม่ได้มีสามีหรือภริยา เมื่อถูกสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถแล้วนั้นก็ต้องให้พ่อแม่หรือ พ่อหรือแม่ เป็นผู้อนุบาล หรือศาลจะสั่งเป็นอย่างอื่นก็ได้

แล้วในกรณีที่มีสามีหรือภริยาล่ะ?

ในส่วนนี้หากมี สามีหรือภรรยาตามกฎหมาย คือต้องจดทะเบียนสมรส เราก็ต้องหยิบเอามาตรา 1463 มาบังคับใช่ซึ่งมาตรา 1463 บัญญัติไว้ว่า
“ในกรณีที่ศาลสั่งให้สามีหรือภริยาเป็นคนไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถ ภริยาหรือสามีย่อมเป็นผู้อนุบาลหรือผู้พิทักษ์ แต่เมื่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหรืออัยการร้องขอ และถ้ามีเหตุสำคัญ ศาลจะตั้งผู้อื่นเป็นผู้อนุบาลหรือผู้พิทักษ์ก็ได้”

การใดที่ทำ

สำหรับผู้ที่ถูกศาลสั่งเป็นบุคคลไร้ความสามารถ หากทำนิติกรรมใด ๆ ล้วนแล้วแต่เป็นโมฆียะทั้งสิ้น ตามบทบัญญัติของมาตรา 29 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

“การใด ๆ อันบุคคลซึ่งศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถได้กระทำลง การนั้นเป็นโมฆียะ”

อำนาจของผู้อนุบาล

ส่วนของขอบเขตอำนาจของผู้อนุบาลนั้นจะอยู่ในบรรพ 5 ของประมวลในมาตราที่สำคัญใน 1598/15-18 โดยเราเริ่มจากผู้ใช้อำนาจปกครองของผู้เยาว์ -> สามี/ภริยา ->บุคคลอื่น

โดยเริ่มจากผู้ใช้อำนาจปกครองเป็นผู้อนุบาล ก็มีอำนาจหน้าที่เหมือนผู้ใช้อำนาจปกครองมาบังคับใช้ตามมาตรา 1598/18 แต่ถ้าบุตรนั้นบรรลุนิติภาวะแล้วก็ให้เว้นมาตรา 1567 (2) และ (3) คือห้ามทำโทษ หรือบังคับให้ทำการงาน

บทบัญญัติ 1598/18 วรรคแรก “มาตรา 1598/18 ในกรณีที่บิดามารดาเป็นผู้อนุบาลบุตร ถ้าบุตรนั้นยังไม่บรรลุนิติภาวะ ให้นำบทบัญญัติว่าด้วยสิทธิและหน้าที่ของผู้ใช้อำนาจปกครองมาใช้บังคับโดยอนุโลม แต่ถ้าบุตรนั้นบรรลุนิติภาวะแล้ว ให้นำบทบัญญัติว่าด้วยสิทธิและหน้าที่ของผู้ปกครองมาใช้บังคับโดยอนุโลม เว้นแต่สิทธิตามมาตรา 1567 (2) และ (3)”

และส่วนของบุคคลอื่น ที่เป็นผู้อนุบาลให้อยู่ใน 1598/18 วรรคสอง

“ในกรณีที่บุคคลอื่นซึ่งมิใช่บิดามารดาหรือมิใช่คู่สมรสเป็นผู้อนุบาล ให้นำบทบัญญัติว่าด้วยสิทธิและหน้าที่ของผู้ปกครองมาใช้บังคับโดยอนุโลม แต่ถ้าผู้อยู่ในความอนุบาลบรรลุนิติภาวะแล้วจะใช้สิทธิตามมาตรา 1567 (2) และ (3) ไม่ได้”

ซึ่งหากเอามาตรา 1567 มาประกอบจะได้ดังนี้

“ผู้ใช้อำนาจปกครองมีสิทธิ
              (1) กำหนดที่อยู่ของบุตร
              (2) ทำโทษบุตรตามสมควรเพื่อว่ากล่าวสั่งสอน
              (3) ให้บุตรทำการงานตามสมควรแก่ความสามารถและฐานานุรูป
              (4) เรียกบุตรคืนจากบุคคลอื่นซึ่งกักบุตรไว้โดยมิชอบด้วยกฎหมาย “

และหากสามีหรือภริยาเป็นผู้อนุบาลล่ะ

ให้หยิบเอามาตราที่เกี่ยวข้องมาบังคับใช้ในมาตรา 1598/15 ซึ่งบัญญัติไว้ว่า

“ในกรณีที่ศาลสั่งให้สามีหรือภริยาเป็นคนไร้ความสามารถและภริยาหรือสามีเป็นผู้อนุบาล ให้นำบทบัญญัติว่าด้วยสิทธิและหน้าที่ของผู้ใช้อำนาจปกครองมาใช้บังคับโดยอนุโลม เว้นแต่สิทธิตามมาตรา 1567 (2) และ (3)”

กล่าวคือก็เหมือนเดิมเช่นเดียวกันแต่ว่าในฐานะสามีภริยา จะมีเรื่องสินสมรสเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย และวิธีการจัดการให้เป็นไปตามมาตรา 1598/16 บัญญัติไว้ว่า

“คู่สมรสซึ่งเป็นผู้อนุบาลของคู่สมรสที่ถูกศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ มีอำนาจจัดการสินส่วนตัวของคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งและมีอำนาจจัดการสินสมรสแต่ผู้เดียว แต่การจัดการสินส่วนตัวและสินสมรสตามกรณีที่ระบุไว้ในมาตรา 1476 วรรคหนึ่งคู่สมรสนั้นจะจัดการไม่ได้ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาล”

มาตรา 1476 มาประกอบ

“สามีและภริยาต้องจัดการสินสมรสร่วมกันหรือได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่งในกรณีดังต่อไปนี้

  • (1) ขาย แลกเปลี่ยน ขายฝาก ให้เช่าซื้อ จำนอง ปลดจำนอง หรือโอนสิทธิจำนองซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือสังหาริมทรัพย์ที่อาจจำนองได้
  • (2) ก่อตั้งหรือกระทำให้สุดสิ้นลงทั้งหมดหรือบางส่วนซึ่งภาระจำยอม สิทธิอาศัยสิทธิเหนือพื้นดิน สิทธิเก็บกิน หรือภาระติดพันในอสังหาริมทรัพย์
  • (3) ให้เช่าอสังหาริมทรัพย์เกินสามปี
  • (4) ให้กู้ยืมเงิน
  • (5) ให้โดยเสน่หา เว้นแต่การให้ที่พอควรแก่ฐานานุรูปของครอบครัวเพื่อการกุศลเพื่อการสังคม หรือตามหน้าที่ธรรมจรรยา
  • (6) ประนีประนอมยอมความ
  • (7) มอบข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการวินิจฉัย
  • (8) นำทรัพย์สินไปเป็นประกันหรือหลักประกันต่อเจ้าพนักงานหรือศาล

การจัดการสินสมรสนอกจากกรณีที่บัญญัติไว้ในวรรคหนึ่ง สามีหรือภริยาจัดการได้โดยมิต้องได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่ง”

และหากเป็นสามีภริยาเป็นผู้อนุบาลปัญหาจะไม่ได้มีมากเท่าไหร่ แต่หาก ผู้อื่นเป็นผู้อนุบาลจะจัดการอย่างไรกับสินสมรส ซึ่งกฎหมายในมาตรา 1598/17 ก็ได้มีบัญญัติไว้เช่นกัน

มาตรา 1598/17 วรรคหนึ่ง “ในกรณีที่ศาลสั่งให้สามีหรือภริยาเป็นคนไร้ความสามารถและศาลเห็นไม่สมควรให้คู่สมรสเป็นผู้อนุบาล และตั้งบิดาหรือมารดาหรือบุคคลภายนอกเป็นผู้อนุบาล ในกรณีเช่นว่านี้ ให้ผู้อนุบาลเป็นผู้จัดการสินสมรสร่วมกันกับคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่ง เว้นแต่ถ้ามีเหตุสำคัญอันจะเกิดความเสียหายแก่คนไร้ความสามารถ ศาลจะสั่งเป็นอย่างอื่นก็ได้”

วรรคสอง “อย่างไรก็ตาม เมื่อมีกรณีดังกล่าวตามวรรคหนึ่ง คู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งมีสิทธิร้องขอต่อศาลให้สั่งแยกสินสมรสได”

นิติกรรมที่เป็นโมฆียะ

ในส่วนของการบอกล้างผู้ที่มีสิทธิบอกล้างโมฆียะกรรมนั้นถูกบัญญัติไว้ใน 175(2) ซึ่งบัญญัติไว้ว่า

“โมฆียกรรมนั้น บุคคลต่อไปนี้จะบอกล้างเสียก็ได้

(2) บุคคลซึ่งศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถเมื่อบุคคลนั้นพ้นจากการเป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถแล้ว หรือผู้อนุบาลหรือผู้พิทักษ์ แล้วแต่กรณี แต่คนเสมือนไร้ความสามารถจะบอกล้างก่อนที่ตนจะพ้นจากการเป็นคนเสมือนไร้ความสามารถก็ได้ถ้าได้รับความยินยอมของผู้พิทักษ์

การสิ้นสุดการเป็นบุคคลไร้ความสามารถ

กำหนดการสิ้นสุดไว้ในมาตรา 31

“ถ้าเหตุที่ทำให้เป็นคนไร้ความสามารถได้สิ้นสุดไปแล้วและเมื่อบุคคลผู้นั้นเองหรือบุคคลใด ๆ ดังกล่าวมาในมาตรา 28 ร้องขอต่อศาลก็ให้ศาลสั่งเพิกถอนคำสั่งที่ให้เป็น คนไร้ความสามารถ นั้น

คำสั่งของศาลตามมาตรานี้ ให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา”

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

You May Also Like